ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567

คู่มือ ในการให้บริการ ประชาชน

การติดต่อราชการที่สถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อย

 – การแจ้งเหตุ   หรือการแจ้งข่าวอาชญากรรม
– การแจ้งความต่างๆ
– การชำระค่าปรับ
– กิจธุระที่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การแจ้งเหตุ

ประชาชนสามารถให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ด้วยการช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องพบเห็นเหตุร้ายหรือพฤติกรรมมีพิรุธน่าสงสัย  เข้าข่ายอาชญากรรมประเภทต่างๆ เช่น ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฯลฯ  ตลอดจนอุบัติเหตุร้ายแรงที่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักสำคัญในการคลายทุกข์ร้อนของประชาชน
วิธีการแจ้งข่าวอาชญากรรม  สามารถกระทำได้  ดังนี้
1.  พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองในท้องที่ที่เกิดเหตุ
2.  แจ้งเหตุทางโทรศัพท์  ซึ่งแบ่งเป็น  2  ลักษณะ  คือ
–   โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉินโดยตรงของทางราชการ เช่น  เหตุด่วนเหตุร้าย  โทรแจ้ง 191
–   โทรศัพท์แจ้งเหตุในรายการวิทยุต่าง ๆ ที่สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันท่วงที
3.  แจ้งเหตุทางจดหมาย หรือ e-mail ไปยังสถานีตำรวจในท้องที่
ข้อควรทราบในการแจ้งข่าวอาชญากรรมทางโทรศัพท์   เมื่อพบเห็นเหตุร้าย  อย่ามัวแต่ตกใจ   ควรระงับสติอารมณ์แล้วแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทันที   พยายามจดจำข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  สิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการมากที่สุด  คือ
1.   เหตุร้ายนั้นเป็นเหตุอะไร  เช่น  ฆ่าคนตาย  รถชนกัน   ปล้นทรัพย์  ฯลฯ
2.   เหตุนั้นเกิดที่ไหน   ระบุสถานที่ให้ชัดเจนถูกต้อง
3.   คนร้ายมีลักษณะอย่างไร   บอกรูปพรรณสัณฐานของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์   ถ้าเป็นยานพาหนะ  ก็ควรสังเกตว่ายานพาหนะนั้นมีป้ายทะเบียนหรือไม่  ถ้ามีเป็นหมายเลขอะไร  เหล่านี้เป็นต้น
การติดต่อกับสถานีตำรวจทางโทรศัพท์   เป็นวิธีการที่น่าเชื่อว่าประชาชนจะสะดวก  รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด   สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเล็งเห็นและมุ่งที่จะปรับปรุงการให้บริการรับแจ้งเหตุต่าง ๆ  ทางโทรศัพท์นี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป  เท่าที่ผ่านๆ มาการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนในสังคมกับสถานีตำรวจทางโทรศัพท์นี้ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการบริการเป็นที่น่าพึงพอใจ  แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตระหนักถึงความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่ได้ใช้วิธีการติดต่อกับสถานีตำรวจทางโทรศัพท์และพบว่า   บางครั้งประชาชนที่ใช้วิธีการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ก็ไม่ได้รับบริการอย่างเหมาะสม   หรือบางครั้งการบริการล่าช้ามาก   สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมุ่งที่จะที่จะหาทางแก้ไขปัญหาแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางโทรศัพท์เพื่อมุ่งที่จะทำให้วิธีการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์นี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   และเป็นวิธีที่ประชาชนได้เรียกใช้บริการของสถานีตำรวจได้ อย่างมั่นใจ  สะดวก  รวดเร็ว  และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
แนวทางการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ใหม่นี้  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  การแจ้งเหตุของประชาชนในแต่ละครั้ง  จะได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมในเวลาอันควรจากตำรวจผู้ให้บริการ  และเพื่อให้ประชาชนได้มีหลักประกันและเกิดความมั่นใจว่า  คำขอรับบริการที่แจ้งเหตุไปถึงตำรวจแล้ว  จะได้รับการบริการที่เหมาะสม 

แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ขอความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูล

สายด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๑๕๙๙ เป็นหมายเลขที่ให้ประชาชนได้ใช้เป็นหลักประกัน  เพื่อความมั่นใจว่า  หากไม่ได้รับความสะดวกหรือการบริการที่เหมาะสมจากผู้ปฏิบัติงานตำรวจในพื้นที่แล้ว  ก็จะสามารถแจ้งความไม่สะดวก  หรือการบริการที่ไม่เหมาะสมให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทราบเพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้เข้าไปตรวจสอบ  และพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  เพื่อพัฒนาการบริการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
ในเบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความกรุณาผู้ที่ต้องการจะติดต่อขอรับบริการเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อตรงไปยังสถานีตำรวจที่รับผิดชอบเขตพื้นที่ก่อน  หากไม่ได้รับความสะดวก  หรือไม่ได้รับการดำเนินการในเวลาอันควร  ขอความกรุณาติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ระดับถัดไปได้ทีละระดับ  ตั้งแต่หัวหน้าสถานีตำรวจ  ผู้บังคับการเขตหรือจังหวัด  และสุดท้ายหากยังไม่ได้รับการบริการที่เหมาะสม  ขอได้โปรดแจ้งไปยังศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และเป็นระบบการตรวจสอบให้บริการประชาชนของสถานีตำรวจอีกทางหนึ่งด้วย

การแจ้งข่าวอาชญากรรม  สามารถแบ่งเป็น

1.  การแจ้งข่าวก่อนเกิดเหตุ  ช่วยกันจับตาดูแลสอดส่องพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย ดังนี้
–  ผู้มักมีพฤติกรรมการลักเล็กขโมยน้อย  หรือลักโค กระบือ
 –  อันธพาล  นักเลง
–  ผู้ติดยาเสพติดผิดกฎหมาย เช่น ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน สารระเหย
 –  มือปืนรับจ้าง
–  บุคคลแปลกหน้าที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย
–  แหล่งซ่องสุมหรือหลบซ่อนตัวของคนร้าย  หรือรับซื้อของโจร
–  แหล่งค้ายาเสพติด
–  แหล่งล่อลวงหญิงค้าประเวณี  หรือทารุณกรรม
–  แหล่งกักขัง  ใช้แรงงานเด็ก  หรือใช้แรงงานคนต่างด้าวผิดกฎหมาย
2.  การแจ้งข่าวขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ
–  แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที  หากได้พบเห็นบุคคลเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด  จดจำลักษณะ  ตำหนิรูปพรรณ   และยานพาหนะของผู้นั้น
–  ให้ข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด  ไม่บิดเบือน  เพื่อผลการดำเนินงานสอบสวนติดตามผลจะได้ถูกต้องแม่นยำ   รวดเร็ว
–  ถ้าเหตุร้ายมีผลต่อสาธารณชน  เช่น  อัคคีภัย  ควรแจ้งตำรวจดับเพลิงหรือกรณีที่พบอุบัติเหตุรถชนกัน  มีผู้ได้รับบาดเจ็บ  ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยด่วนแล้วช่วยดูแลทรัพย์สินของผู้ประสบเหตุ

            การสังเกตจดจำตำหนิลักษณะคนร้าย   จะมีประโยชน์ในการสืบสวนปราบปรามผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น  ประชาชนควรศึกษาหลักการสังเกตจดจำรูปพรรณ  ดังต่อไปนี้
1.  จดจำลักษณะใหญ่  เห็นง่าย
2.  จดจำลักษณะเด่น  ตำหนิ
3.  เลือกจดจำลักษณะเพียงบางอย่างที่สามรถจำได้อย่างแม่นยำ
4.  เมื่อคนร้ายหลบหนีไป  รีบจดบันทึกทันทีตามที่เห็นจริง
5.  มอบรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
———————————————————————-
      การแจ้งความต่าง ๆ   เมื่อประชาชนประสบเหตุเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม  หน่วยงานสำคัญที่จะเป็นที่พึ่งได้ในยามเกิดปัญหา คือ  สถานีตำรวจตามกฎหมายได้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการร้องทุกข์หรือแจ้งความเรื่องต่างๆ  ได้อย่างเต็มที่  รวมไปถึงกำหนดหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องเอาใจใส่ต่อคำร้องทุกข์ของประชาชน  จะละเลยไม่ได้
สงสัยหรือเปล่าล่ะว่า  แจ้งความ กับ แจ้งเหตุ ต่างกันอย่างไร
การแจ้งเหตุ  คือ  เมื่อเรามีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ก็ควรช่วยเหลือสังคมด้วยแจ้งเหตุการณ์ที่เห็นแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที
การแจ้งความ  คือ  เมื่อเรามีเรื่องทุกข์ร้อน  และนำเรื่องนั้นไปแจ้งหรือร้องทุกข์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว  มันจะกลายเป็นคดีความระหว่างเราซึ่งเป็นผู้เสียหายกับคู่กรณี  ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเรียนรู้ถึงวิธีปฏิบัติ  รวมทั้งการเตรียมเอกสารในเรื่องที่จะแจ้งความนั้นให้พร้อม   เพื่อจะทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
1.  แจ้งความเอกสารสำคัญหาย
เช่น  ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์  จักรยานยนต์  โฉนดที่ดิน  ใบสำคัญต่างๆ ฯลฯ  มีขั้นตอนดังนี้คือ  ยื่นคำร้องแจ้งว่าเอกสารดังกล่าวหายต่อสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ  จากนั้นเจ้าพนักงานจะตรวจสอบว่าจริงหรือไม่  แล้วลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน  พร้อมทั้งออกหลักฐานการแจ้งความเอกสารหายเพื่อให้ท่านนำไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสำหรับดำเนินการต่อไป
2.  แจ้งความคนหาย
หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ  คือ
–  บัตรประจำตัวผู้หาย  หรือสำเนาบัตรที่ถ่ายเก็บไว้ (ถ้ามี)
–  สำเนาทะเบียนบ้านผู้หาย
–  ภาพถ่ายคนหาย (เป็นภาพถ่ายปัจจุบัน)
–  ใบสำคัญทางราชการ  เช่น  ใบเกิด  ใบสำคัญทหาร (ใบกองเกิน ใบกองหนุน)
3.  แจ้งความรถหรือเรือหาย
หลักฐานต่างๆ ที่ควรนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ  คือ
–  ใบทะเบียนรถยนต์  รถจักรยานยนต์  หรือพาหนะอื่นๆ ที่หาย
–  ใบรับเงินหรือสัญญาซื้อขายเท่าที่มี
–  ถ้าเป็นตัวแทนห้างร้าน  บริษัท  ผู้ไปแจ้งความควรมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของหรือผู้จัดการของห้างร้าน  บริษัทนั้นๆ ไปรวมทั้งหนังสือรับรองบริษัทด้วย
–  หนังสือคู่มือประจำรถที่ทางบริษัทห้างร้านออกให้  ถ้าไม่มีก็ให้จำสีรถ  แบบ  ยี่ห้อ  หมายเลขประจำเครื่องและตัวรถไปด้วย (ถ้ามี)
–  หากมีภาพถ่ายรถหรือเรือที่หายให้นำไปด้วย
4.  แจ้งความอาวุธปืนหาย
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
–  ทะเบียนใบอนุญาตอาวุธปืน
–  ใบเสร็จ รับเงินที่บริษัทห้างร้านขายปืนออกให้ ( ถ้ามี )
–  ภาพถ่ายปืนที่หาย
5.  แจ้งความทรัพย์สินหาย
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
–  ใบเสร็จรับเงินซื้อขาย หรือหลักฐานการแสดงการซื้อขายทรัพย์สินนั้น
–  รูปพรรณทรัพย์สิน ๆ เช่น  หมายเลขเครื่อง ฯลฯ  ( ถ้ามี )
–  ตำหนิหรือลักษณะพิเศษต่าง ๆ
–  ภาพถ่ายของทรัพย์สินที่หาย ( ถ้ามี )
ในกรณีที่คนร้ายขโมยทรัพย์สินในบ้านหรือสำนักงาน ให้รักษาร่องรอยหลักฐานในที่เกิดเหตุไว้  อย่าให้ใครเข้าไปเคลื่อนย้ายหรือแตะต้องจนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาดำเนินการ
6.  แจ้งความพรากผู้เยาว์
ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ข้อหาพรากผู้เยาว์เป็นอย่างไร  คงจำกันได้ดีถึงกรณีพิพาทอื้อฉาวบนหน้าหนังสือพิมพ์ระหว่างนักร้องหญิงวัยรุ่นกับแม่ของเธอ  เรื่องมันก็มีอยู่ว่าสาวเจ้าล่นประกาศปาว ๆ จะอยู่กินกับแฟนหนุ่ม  แถมท้องได้ 4 เดือนเสียด้วย ทั้ง ๆ  ที่ อายุยังไม่ถึง 20 ปี เล่นเอาคุณแม่ต้องวิ่งโร่ไปแจ้งความกับตำรวจในข้อหาพรากผู้เยาว์น่ะสิ  เห็นชัดแล้วใช่มั้ยว่าการพรากผู้เยาว์เป็นอย่างไร  ใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้  เวลาจะขึ้นโรงพักไปแจ้งตำรวจ ก็อย่าลืมเตรียมเอกสาร ดังนี้
–  สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เยาว์
–  ใบเกิดของผู้เยาว์(สูติบัตร)
–  รูปถ่ายของผู้เยาว์
–  ใบสำคัญอื่นๆเกี่ยวกับผู้เยาว์ (ถ้ามี)
7. แจ้งความถูกข่มขืนกระทำชำเรา
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
–  เสื้อผ้าของผู้ถูกข่มขืน ซึ่งมีรอยเปื้อนอันเกิดจากการข่มขืน และสิงของต่างๆ ของผู้ต้องหาที่ตกอยู่ในสถานทีเกิดเหตุ
–  สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เสียหาย
–  รูปถ่ายหรือที่อยู่ของผู้ต้องสงสัยตลอดจนหลักฐานอื่นๆ(ถ้ามี)
8. แจ้งความถูกทำร้ายร่างกายและเหตุฆ่าคนตาย
ดำเนินการดังนี้
–  รักษาสถานที่เกิดเหตุไว้อย่าให้ใครเข้าไปยุ่มย่ามหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆในที่เกิดเหตุจนกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จะดำเนินการ
–  ดูแลรักษาอาวุธของคนร้ายหรือพยานหลักฐานต่างๆเพื่อส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
–  บอกรายละเอียดต่างๆเท่าที่สามารถบอกได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทราบ
9.  แจ้งความถูกปลอมแปลงเอกสาร
นำหลักฐานต่างๆไปดังนี้
–  ใบสำคัญตัวจริง เช่น โฉลด แบบ น.ส.3  หนังสือสัญญา ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ
–  หนังสือปลอมแปลง
–  ตัวอย่างตราที่ใช้ประทับหรือลายเซ็นในหนังสือ
10. แจ้งความถูกฉ้อโกงทรัพย์
เตรียมหลักฐานดังนี้
–  หนังสือหรือหลักฐานต่างๆ  ที่เกี่ยวกับการถูกฉ้อโกง
–  หลักฐานแสดงการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์
–  หนังสือหรือหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์
11. แจ้งความถูกยักยอกทรัพย์
ควรเตรียมหลักฐานดังนี้
–  หนังสือสำคัญที่เป็นหลักฐานว่าได้มีการมอบหมายทรัพย์ให้ไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง
–  ใบสำคัญแสดงการเป็นเจ้าของ
–  สำเนาหรือคำสั่งศาล หรือพินัยกรรมในกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือพินัยกรรม
12.  แจ้งความถูกยักยอกทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเช่าซื้อ
ควรเตรียมหลักฐาน ดังนี้
–  สัญญาใบเช่าซื้อหรือสำเนา
–  ใบสำคัญติดต่อซื้อ ขาย เช่า ยืม หรือฝาก
–  ใบสำคัญที่บริษัทห้างร้านออกให้โดยระบุรูปพรรณ ยี่ห้อ สี ขนาด น้ำหนัก และเลขหมายประจำตัว
13.  แจ้งความกรณีทำให้เสียทรัพย์
ควรเตรียมเอกสาร ดังนี้
–  หลักฐานต่างๆ แสดงการเป็นเจ้าของหรือครอบครองทรัพย์นั้น
–  หลักฐานหรือสิ่งของที่เสียหายเท่าที่มีหรือเท่าที่นำไปได้
–  หากเป็นของใหญ่โต  หรือทรัพย์ที่ไม่สามารถพกพาติดตัวได้ให้เก็บรักษาไว้อย่าให้เกิดเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม  หรือจัดให้คนเฝ้ารักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป
14. แจ้งความจ่ายเช็คโดยไม่มีเงิน
ควรเตรียมหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนี้
–  เช็คที่ยึดไว้
–  หนังสือที่ธนาคารแจ้งขัดข้องหรือปฏิเสธการจ่ายเงิน (ใบคืนเช็ค)
–  หลักฐานหรือเอกสารซึ่งเป็นมูลหนี้แห่งที่มาของการจ่ายเช็ค เช่น
1.  บิลส่งสินค้ากรณีที่มีการซื้อขายกัน, หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน
2.  สัญญาซื้อขาย หรือเอกสารอื่นใดที่เป็นหลักฐานแห่งมูลหนี้ของการจ่ายเช็ค
–  สำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้ง
–  บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
กรณีเป็นเช็คของบริษัท  หรือมีการมอบอำนาจ  จะต้องมีเอกสารเพิ่มเติมคือ
–  หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ถูกต้อง
–  สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ
–  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
–  เอกสารเกี่ยวกับตัวผู้จ่ายเช็ค (ถ้ามี)
——————————————————————

การชำระค่าปรับ

เมื่อเราทำผิด และได้รับใบสั่งสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ สามารถเลือกปฏิบัติในการชำระค่าปรับตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร  ณ สถานที่และภายในวันเวลาที่ระบุไว้ในสั่งได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

ช่องทางการชำระเงินค่าปรับ

  • ชำระค่าปรับทางช่องทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย
  • ชำระที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน
  • ชำระผ่านสาขาของธนาคารกรุงไทย
  • ชำระผ่านตู้ ATM ADM ธนาคารกรุงไทย
  • ชำระผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา
  • ชำระผ่านจุดรับชำระเงิน เช่น ตู้บุญเติม หรือ CenPay เป็นต้น

       ขั้นตอนการชำระค่าปรับทางไปรษณีย์
1.  ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถต้องถ่ายเอกสารใบสั่งทั้ง 2 หน้า โดยกรอกข้อความในสำเนาใบสั่งในส่วนของ  “บันทึกของผู้ต้องหา” ให้ครบถ้วนพร้อมลงลายมือชื่อ (ใบสั่งตัวจริงเก็บไว้เป็นหลักฐาน.)
2.  ไปที่ทำการไปรษณีย์แห่งใดก็ได้พร้อมแจ้งความจำนงว่าจะชำระค่าปรับทางไปรษณีย์
3.  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะมอบใบฝากธนาณัติในประเทศและซองจดหมายจำนวน 2 ซอง
เพื่อดำเนินการ ดังนี้
–  กระกรายละเอียดในใบฝากส่งไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศสั่งจ่าย “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ณ ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางตามที่ระบุไว้ในใบสั่ง
–  จ่าหน้าซอง  โดยซองแรกให้จ่าหน้าถึงหัวหน้าสถานีตำรวจหรือหัวหน้าหน่วยงานตำรวจที่ออกใบสั่ง  และซองที่สองให้จ่าตามชื่อที่อยู่ของผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ได้กรอกไว้ในสำเนาใบสั่งส่วนของ “บันทึกผู้ต้องหา” ตามข้อ 1  เพื่อจะส่งใบเสร็จรับเงินและใบอนุญาตขับขี่(หากถูกยึด)คืนให้
–  มอบเอกสารตามข้างต้นให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์  พร้อมชำระค่าปรับจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่งและเงินค่าใช้บริการตามที่ที่ทำการไปรษณีย์เรียกเก็บ
–  เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะตรวจความถูกต้องและดำเนินการให้ต่อไป

  หมายเหตุ
1. พ.ร.บ.จราจรบนบก  พ.ศ.  2522  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562
2. ข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่องชำระค่าปรับทางไปรษณีย์และข้อกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่
ีเปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม  พ.ร.บ.จราจรทางบก  พ.ศ.  2522  พ.ศ. 2539  แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่อง
การชำระค่าปรับทางไปรษณีย์ฯ   ( ฉบับที่ 3 )  พ.ศ. 2540
——————————————————————————————-

กิจธุระที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

     1. การขออนุญาตแสดงมหรสพชั่วคราว
–   ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของสถานที่
–   ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วย ( ถ้ามี )
–   เลิกแสดงมหรสพเวลา  24.00 น.
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องยื่นคำร้องต่อผู้กำกับหรือรองผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่เป็นผู้พิจารณาอนุญาต
ส่วนต่างจังหวัด จะต้องย่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ และเมื่อนายอำเภออนุญาตแล้วจะต้องแจ้งให้ตำรวจท้องที่ทราบ

      2. การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
–   ในกรุงเทพมหานคร ต้องยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการเขต
–   ในต่างจังหวัดต้องยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ แล้วนำคำร้องมายื่นต่อผู้กำกับหรือ
รองผู้กำกับท้องที่เพื่อลงความเห็นแล้วส่งกลับไปยังเขตหรืออำเภอเพื่อพิจารณาอนุญาตต่อไป

      3.  การขออนุญาตจุดดอกไม้เพลิง
–   ในเขตกรุงเทพมหานคร  ต้องยื่นคำร้องที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเสนอเรื่องให้
้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้อนุญาต
–   ในต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่

       4.  การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน
สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ ดังนี้
1.  กรุงเทพ : ยื่นต่อผู้บังคับการกองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ลาดพร้าว )
2.  ต่างจังหวัด : ยื่นต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ
หลักฐานสำหรับการประกอบพิจารณา ที่ต้องนำไปมีดังนี้
1.  บัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวพร้อมสำเนา
2.  สำเนาทะเบียนบ้าน
3.  หลักทรัพย์ หลักฐานการประกอบอาชีพและรายได้
4.  หนังสือรับรองความเหมาะสม เหตุผล ความจำเป็น นิสัยใจคอ ดังนี้
–  ถ้าเป็นราษฎรทั่วไป ต้องนำพยานบุคคลที่เชื่อถือได้ไปให้คำรับรองเกี่ยวกับความประพฤติและหลัก
ฐานของผู้ขออนุญาตด้วย
–  ถ้าเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ต้องให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า
หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้บังคับกองพันทหาร รับรองความประพฤติและตำแหน่งหน้าที่การงาน
–  ถ้าเคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน  ให้นำใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ไปแสดงด้วย

      5.  การขออนุญาตพกพาอาวุธปืนติดตัว
สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ ดังนี้
1.  ยื่นต่อผู้บังคับการกองทะเบียน  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  (ลาดพร้าว) สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ
2.  ยื่นต่อนายอำเภอ  หรือปลัดอำเภอ สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด

              คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตพกพาอาวุธปืนติดตัว
1.  เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนอยู่แล้ว
2.  เป็นบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้
–  เจ้าพนักงานซึ่งทำหน้าที่ควบคุมทรัพย์สินของรัฐบาล
–  ข้าราชการ  พนักงาน  หรือพนักงานองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ในการปราบปราม หรือการปฏิบัติงานที่เป็นการฝ่าอันตรายหรือเขตทุรกันดาร
–  บุคคลซึ่งได้ทำประโยชน์อย่างมากให้แก่ทางราชการในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย
–  บุคคลที่มีความจำเป็นต้องมีอาวุธปืนติดตัว  เพื่อป้องกันอันตรายจากการประทุษร้าย
–  บุคคลที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นสมควรอนุญาต
หลักฐานการขออนุญาต
1.  สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการเจ้าพนักงานหรือพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจ
หรือบัตรประจำตัวประชาชน
2.  สำเนาใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4)
3.  สำเนาทะเบียนบ้าน  โดยที่อยู่ของผู้ขออนุญาตที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้านจะต้องตรงกับที่อยู่ในแบบ ป.4
4.  ภาพถ่ายของผู้ขออนุญาต ขนาด 3 นิ้ว จำนวน 2 รูป โดยถ่ายหน้าต่างแต่งเครื่องแบบ
5.  กรณีผู้ขอเป็นข้าราชการ เจ้าพนักงาน หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดว่าเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยมีเหตุผลและความจำเป็นสมควรได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนติดตัวได้
6.  กรณีที่ผู้ขอทำงานอยู่ในธุรกิจเอกชน  จะต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าของหนังสือผู้จัดการธุรกิจนั้นๆ ว่าผู้ขอเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย มีเหตุผลและความจำเป็นสมควรได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนติดตัวได้

        6.  การขอรับโอนมรดกอาวุธปืน  ปฏิบัติเช่นเดียวกับการขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน หากต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
1.  ใบมรณะบัตรของผู้ตาย
2.  หนังสือพินัยกรรมของผู้ตาย หรือคำสั่งศาลให้เป็นผู้จัดการมรดก (ถ้ามี)
3.  ต้องแจ้งขอรับการโอนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับมรดก 

         7.  การขออนุญาตเล่นการพนันประเภทต่างๆ ควรนำหลักฐานเอกสารดังต่อไปนี้แสดงต่อเจ้าหน้าที่
1.  บัตรประจำตัวประชาชน
2.  ทะเบียนบ้าน ฉบับเจ้าบ้าน
3.  หนังสือมอบอำนาจ พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ  ในกรณีที่ผู้ขอมิได้ยื่นคำขอใบอนุญาตด้วยตนเอง
4.  โครงการหรืองานที่จะจัดให้มีการเล่นการพนัน (ถ้ามี)
สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร  ต้องยื่นคำขออนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันพร้อมเอกสารดังกล่าวต่อนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรประจำท้องที่ซึ่งดำรงตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป  ส่วนในเขตต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นต่อนายอำเภอท้องที่หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ

         8.  การขออนุญาตเยี่ยมผู้ต้องหาบนสถานีตำรวจ
–  พบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาบนสถานีตำรวจ
–  แจ้งชื่อผู้ต้องหาที่ต้องการเยี่ยม
–  หลังได้รับอนุญาต ให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาได้ตามระเบียบที่กำหนด คือ
เวลา   08.00 – 09.00  น.
เวลา   12.00 – 13.00  น.
เวลา   16.00 – 17.00  น.
–  อาหารของเยี่ยมของฝากผู้ต้องหา  ต้องได้รับการตรวจจากเจ้าหน้าที่ก่อนเสมอ